วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญ 2540 (2)

เกือบทั้งหมดของ ชุดที่ 1 เป็นมาตราที่ต้องรอ พรบ. หรือกฎหมายลูกออกมารองรับรองการปฏิบัติอีกทีอยู่ดี
ส่วนชุดที่ 2 ใน Entry นี้ เป็นมาตราที่มีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง (เมื่อไร ?) ในครั้งนี้เลย
มองในแง่หนึ่ง มาตราในชุดที่ 2 นี้เป็นกลุ่มที่สำคัญมาก เพราะมีผลต่อการคัดนักการเมืองเข้าสภาโดยตรง
มองอีกแง่หนึ่ง มาตราในชุดที่ 2 นี้มีผลต่อประชาชนน้อย เพราะเมื่อเข้าสภาไปแล้วก็หาประโยชน์สุดเหวี่ยง
ประเด็นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญ '50 มีกลไกเอื้อให้ประชาชนเบรกนักการเมืองอย่าให้กินมูมมากนัก หรือไม่

ชุดที่ 2 มาตราเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง

มาตรา 93 - 94
ของใหม่ - ระบบการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมี สส. ไม่เกิน 3 คน รวมทั้งสิ้น 400 คน
ของเก่า - ระบบการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต ใช้พื้นที่เป็นเขตเลือกตั้งแต่ละพื้นที่มี สส. ได้ 1 คน
comment - เขตใหญ่ขึ้น ซื้อเสียงได้ยากขึ้น ถ้า สส. เป็นที่รักของคนในจังหวัดจริงๆ ก็จะไม่มีปัญหา แต่ซื้อเสียงยากขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าซื้อไม่ได้นะครับ คนจะโกง ย่อมหาวิธีการโกงวันยังค่ำ

มาตรา 95 - 98
ของใหม่ - ระบบการเลือกตั้ง สส. แบบสัดส่วน แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัดละ 10 คน
ของเก่า - ระบบบัญชื่อรายชื่อยกประเทศ 100 คน
comment - ป้องกันพรรคการเมืองใหญ่ผูกขาด คะแนนเสียงของประชาชนจะได้ไม่กระจุกใน กทม. แม้จะมีช่องซิกแซกโดยย้ายสำมะโนครัวไปต่างจังหวัด แต่คงไม่ทันการเลือกตั้งในครั้งนี้

มาตรา 95 - 98
ของใหม่ - สส. แบบสัดส่วน ไม่มีเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ
ของเก่า - ต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ 5 ถึงจะมี สส. แบบบัญชีรายชื่อเข้าสภาได้
comment - พรรคเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้คะแนนเสียง มีโอกาสเข้าสภามากขึ้น พรรคใหญ่ผูกขาดยากขึ้น พรรคใหญ่เปลืองงบในการฮุบมากขึ้น แต่ ผู้สมัครฟองสบู่ก็ถือโอกาสโก่งค่าตัวได้เช่นกัน

มาตรา 101
ของใหม่ - ผู้สมัคร สส. ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิปริญญาตรี
ของเก่า - ผู้สมัคร สส. ต้องมีวุฒิปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย
comment - จุดประสงค์เพื่อหาคนดี มีความชำนาญนอกระบบ เพราะคนฉลาดไม่ได้แปลว่าจะไม่โกง แต่ทางปฏิบัติ เราคงได้ สส. โกงกินเหมือนเดิม แถมโกงกินแบบด้อยปัญญาอีกต่างหาก

มาตรา 101 (3)
ของใหม่ - ลดระยะเวลาในการสังกัดพรรค กรณียุบสภา เหลือ 30 วัน
ของเก่า - ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง สส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง
comment - สส. มีทางเลือกในการตัดสินใจเลือกพรรคมากขึ้น ไม่ตกอยู่ภายใต้สัญญาทาสพรรคใหญ่ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้เป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ของ สส. มากกว่าปัญหาของประชาชน

มาตรา 102 (เป็นมาตราที่เดิมพิมพ์คำขยายผิดครับ)

ของใหม่ - คุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร สส. บางประการ ผู้เป็น สส. ได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
..................1) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย
..................2) ไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุก โดยพ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปี
........................ยกเว้นความผิดโดยประมาท หรือลหุโทษ
..................3) ไม่เป็น หรือเคยเป็น สว. แต่ยังพ้นตำแหน่งมาไม่เกิน 2 ปี
..................4) ไม่เคยถูก สว. ถอดถอนจากตำแหน่ง
ของเก่า - คุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร สส. บางประการ ผู้เป็น สส. ได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
..................1) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
..................2) ไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปี
........................ยกเว้นความผิดโดยประมาท หรือลหุโทษ
..................3) ไม่เป็น สว.
..................4) ไม่เคยถูก สว. ถอดถอนจากตำแหน่ง และยังไม่พ้น 5 ปี
comment - เทียบเท่าคำสั่งประหารชีวิต สส. ที่มีประวัติไม่ดีและไม่รู้จักเข็ดหลาบ ไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ขอให้กล้าๆ แบบเมืองจีนตอนนี้ ที่ระดับเจ้ากรมเจ้ากระทรวงบิ๊กๆ ถูกเชือดเป็นใบไม้ร่วง

มาตรา 104
ของใหม่ - ระหว่างอายุของสภา จะควบรวมพรรคการเมืองไม่ได้
ของเก่า - ไม่มี
comment - ป้องกันการควบรวมพรรคการเมือง เพื่อยึดสภาเบ็ดเสร็จตามช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญเก่า

มาตรา 106 และ 119
ของใหม่ - สส. สว. พ้นจากตำแหน่งเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้กำลังรอการลงโทษก็ตาม
ของเก่า - สส. สว. พ้นจากตำแหน่งเมื่อต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
comment - ในเมื่อผลการตัดสินจากศาลถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องลอยหน้าลอยตาเป็น สส. สว. อีกต่อไป

มาตรา 108
ของใหม่ - ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งใหม่ กรณียุบสภา "ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน"
ของเก่า - กำหนดไว้เพียง ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ "ภายใน 60 วัน"
comment - เพื่อเปิดช่องทางให้ สส. ย้ายพรรคการเมืองได้ ตามเงื่อนไข 30 วันของรัฐธรรมนูญ '50 ระบบเดิมเห็นได้ชัดเจนว่า ต่อให้ทักกี้ยุบสภาสิบครั้งซ้อน ลูกพรรคก็หนีไปไหนไม่ได้เลย

มาตรา 111
ของใหม่ - สว. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน มาจากการแต่งตั้ง 74 คน รวม 150 คน
ของเก่า - สว. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน
comment - ลดจำนวน สว. ไม่ให้เทอะทะ การแบ่งที่มาอย่างละครึ่ง ทำให้ สว. จัดกลุ่มฮั้วกันลำบากขึ้น ให้ศาลเลือก สว. คงไม่เลวร้ายไปกว่า ให้ฐานเสียง สส. เลือกล็อค สว. ตามระบบเก่าหรอก

มาตรา 115
ของใหม่ - เพิ่มคุณสมบัติต้องห้ามของ สว. ให้เข้มข้นขึ้น
..................1) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ สส.
..................2) ไม่เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 5 ปี
..................3) ไม่เป็น สส. หรือพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 5 ปี
ของเก่า - ไม่มี
comment - เป็นมาตราที่กำจัด "สภาผัว-เมีย" ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะนึกออกแล้ว เพื่อให้ได้คนที่ไม่สังกัดฝ่ายใดเป็น สว. แต่อาจจะเกิด "สภาหย่าแล้ว" ขึ้นมาแทนก็ได้ :P

มาตรา 122
ของใหม่ - ยืนยันให้ สส. สว. ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำ
ของเก่า - ไม่มี
comment - ถ้าหากการคัดเลือก สส. สว. เป็นไปตามมาตรา 115 อย่างจริงจัง ก็พอมีความหวังอยู่บ้าง

มาตรา 142 และ 163
ของใหม่ - ลดจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมาย เหลือ 10,000 ชื่อ
ของเก่า - 50,000 รายชื่อ
comment - เป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน และหวังว่าประชาชนคงไม่เสนออะไรติ๊งต๊องเป็นกฎหมายล่ะ

มาตรา 158
ของใหม่ - สส. จำนวน 1 ใน 5 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
ของเก่า - สส. จำนวน 2 ใน 5 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
comment - แก้ไขปัญหายุคทักกี้ ซึ่งมีเสียงในสภามากกว่า 3 ใน 5 จนระบบการตรวจสอบเป็นง่อย

มาตรา 159
ของใหม่ - สส. จำนวน 1 ใน 6 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีได้ แม้รัฐมนตรีคนดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่ง เปลี่ยนไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ก็ตาม
ของเก่า - สส. จำนวน 1 ใน 5 ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีได้ แต่ถ้ารัฐมนตรีคนดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง จะไม่สามารถอภิปรายได้
comment - เงื่อนไขใหม่เข้าท่ามาก เพราะเงื่อนไขเก่า เปลี่ยน รมต. บ่อยเหมือนกับเล่นเก้าอี้ดนตรี ผลัดกันเข้าไปกินจนอิ่มหนำถ้วนหน้า นโยบายไม่สานต่อเพราะเจ้ากระทรวงอายุสั้นสุดๆ เงื่อนไขใหม่เป็นการป้องปราม รมต. ชุดต่อไปว่าจะเข้าไปกินแล้วชิ่งแบบสมัยก่อนไม่ได้ .เพราะฝ่ายค้านหรือประชาชนสามารถตามจิกเล่นงานเจ้ากระทรวงที่มูมมามย้อนหลังได้

มาตรา 160
ของใหม่ - เมื่อ ครม. บริหารงานเกิน 2 ปี ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ หรือ รมต. ได้ทันที
ของเก่า - ไม่มี
comment - ป้องกันเผื่ออนาคตมีใครยึดเสียงในสภาได้มากกว่า 4 ใน 5 รถถังจะได้ไม่ต้องออกมาอีก

มาตรา 164 และ 271
ของใหม่ - ลดจำนวนรายชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหลือ 20,000 ชื่อ
ของเก่า - 50,000 รายชื่อ
comment - แม้จะเป็นดาบสองคม แต่ก็น่าจะทำให้นักการเมืองที่มีชนักติดหลัง สงบเสงี่ยมขึ้นอีกนิด

มาตรา 167 วรรค 2
ของใหม่ - กำหนดให้การทำงบกลางต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นด้วย
ของเก่า - ไม่มี
comment - มันเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ควรจะทำมาตั้งนานแล้วครับ

มาตรา 170
ของใหม่ - เงินรายได้ใดๆ ที่ไม่ต้องนำส่งเข้าคลัง ต้องรายงานต่อ ครม. และรายงานต่อสภาฯ ทุกสิ้นปี
ของเก่า - ไม่มี
comment - เหมือนจะโปร่งใสขึ้น...นิดนึง...

มาตรา 171
ของใหม่ - นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี (หรือ 2 สมัยเต็ม)
ของเก่า - ไม่มี
comment - ป้องกันการผูกขาดอำนาจ ประกอบกับคนไทยมีนิสัยเบื่อง่าย ดังนั้น ต่อให้เทวดามาปกครอง 8 ปี ก็มากพอแล้วครับ

มาตรา 212
ของใหม่ - ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ในกรณีที่กฎหมายกระทบสิทธิเสรีภาพ
ของเก่า - ไม่มี
comment - เมื่อดูจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงว่าคนไท้ไทเข้าใจคำว่า สิทธิเสรีภาพ แบบผิดๆ ก็เลยไม่แน่ใจว่าจะให้มันเป็นมาตราที่ดี ดีหรือเปล่า

มาตรา 219
ของใหม่ - ให้ศาลยุติธรรมพิจารณาตัดสินดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ของเก่า - ไม่มี
comment - มาตรานี้ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับ กกต. เดิมซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในกระบวนการเลือกตั้ง โดยให้ กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และให้ ศาล มีอำนาจในการออกใบแดง ใบเหลือง

มาตรา 244 (3) และวรรคท้าย
ของใหม่ - ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจดำเนินการในเรื่องจริยธรรมของ นักการเมืองและข้าราชการ รวมทั้งพิจารณาและสอบสวน โดยไม่ต้องมีการร้องเรียนก็ได้ ถ้ามีผลกระทบต่อประชาชน
ของเก่า - ไม่มี
comment - ถ้า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจริงๆ ก็เป็นมาตราที่ดี


มาตรา 250 (3) และ (5)
ของใหม่ - ปปช. มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของ นักการเมือง รวมทั้งพิจารณาและสอบสวน โดยไม่ต้องมีการร้องเรียนก็ได้
ของเก่า - ไม่มี
comment - ถ้า ปปช. ซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจริงๆ ก็เป็นมาตราที่ดี

มาตรา 255
ของใหม่ - องค์กรอัยการ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ของเก่า - ไม่มี
comment - ถ้าไปถามเหล่าอัยการก็คงได้รับคำตอบว่าดีล่ะมั้ง

มาตรา 257
ของใหม่ - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีอำนาจในการฟ้องศาลต่างๆ แทนประชาชนที่ถูกละเมิดได้
ของเก่า - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีอำนาจในการตรวจสอบและให้คำแนะนำเท่านั้น
comment - หลักการดี แต่ ถ้าไปเจอนักสิทธิมนุษยชนสนามหลวงเข้า ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะไม่ปลื้ม

มาตรา 259 วรรค 3
ของใหม่ - บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองนั้น รวมถึงทรัพย์สินที่คนอื่นครอบครองดูแลด้วย
ของเก่า - ไม่มี
comment - เพื่อป้องกันการถ่ายโอนทรัพย์ให้คนขับรถ คนสวน บริษัทนายหน้า แล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

มาตรา 269 วรรคท้าย
ของใหม่ - ห้าม นายกฯ และ รมต. รวมทั้งลูกเมียที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นด้วย
ของเก่า - ห้ามเฉพาะ นายกฯ และ รมต. เท่านั้น
comment - เพื่อป้องกันเหตุการณ์ "พ่อแม่รังแกฉัน" และป้องกันการเกิดข้อครหา "ผู้ใหญ่รังแกเด็ก" จากกรณีทักกี้โอนหุ้นให้ลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจนต้องตกกระไดพลอยโจน ซวยไปด้วย

มาตรา 276
ของใหม่ - กำหนดให้มี ผู้ไต่สวนอิสระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากการประชุมของศาลฎีกา
ของเก่า - ไม่มี
comment - เหมือนจะดี แต่เกิดความรู้สึกว่าเริ่มก้าวก่ายอำนาจเยอะเกินไปหรือเปล่า

หมวด 13
ของใหม่ - กำหนดเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ
ของเก่า - ไม่มี
comment - เรื่องนามธรรมเป็นอะไรที่กำหนดลำบาก ดีของคนหนึ่ง อาจไม่ดีของคนหนึ่ง

มาตรา 287
ของใหม่ - กำหนดเพิ่ม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง
ของเก่า - ไม่มี
comment - มันก็เป็นองค์การปกครองสำหรับเครือญาติส่วนท้องถิ่นอยู่ดี


มาตรา 291
ของใหม่ - ให้สิทธิประชาชน 50,000 รายชื่อ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ของเก่า - ประชาชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
comment - ถึงแม้ผมจะไม่ไว้ใจคนไท้ไท แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตราที่ดี

มาตรา 303
ของใหม่ - กำหนดให้ตรากฎหมายลูกเสร็จใน 1 ปี หรือ 2 ปีในบางกรณี
ของเก่า - ไม่มี
comment - เป็นมาตราที่ดี เพราะไม่เช่นนั้น กฎหมายบางอย่าง จะถูก สส. เตะถ่วงจนยุบสภาโน่นเลย



4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบล๊อกที่ดี
น่าจะมีบล๊อกประเภทนี้ออกมาเยอะๆ
เพราะให้เนื้อหาบางเรื่องที่เราควรรู้

JJ กล่าวว่า...

เยี่ยมมากๆครับ

เนื้อหาน่าสนใจ

อ่านเข้าใจง่ายด้วยครับ

Suk!3zZ กล่าวว่า...

I Love this blog

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เยี่ยมมากครับ อ่านแล้วได้ความรู้อีกเยอะเลย